ข่าวโดย: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2561 ฉบับที่ 5567 หน้า 29
1
. เวทีประกวดผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยแลนด์ กรีน ดีไซน์ อวอร์ด (Thailand Green Design Awards) จัดขึ้นปีที่ 4 แล้ว เป็นเวทีที่มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชิงรุกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ร่วมสร้างบรรยากาศของมหาวิทยาลัยให้เป็นสังคมแห่งการสร้างสรรค์
. ในโครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทย์สำคัญของมหาวิทยาลัยในการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตร สิ่งแวดล้อม การออกแบบ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างผู้ประกอบการที่มีจิตสำนึกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสร้างจิตสำนึก และแนวปฏิบัติที่ดีทางด้านการอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อมสู่สังคมในทุกระดับ
. ทางมหาวิทยาลัยได้สนับสนุนโครงการประกวดนี้ให้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมการวิจัยอย่างแท้จริง และไม่จบแค่เพียงการดำเนินงานวิจัย โดยมหาวิทยาลัยส่งเสริมผลงานเข้าประกวด เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ พร้อมให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ ความร่วมมือทางวิชาการ รวมทั้งตลาดผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ทุกผลงานใช้งานได้จริง ทำจริง และขายได้จริง
. ผลงาน 4 ประเภท มีผู้ส่งเข้าประกวด 239 ผลงาน โดยแบ่งออกเป็น
- ประเภทประหยัดพลังงาน (Energy Saving) 27 ผลงาน
- ประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resources Efficiency) 131 ผลงาน
- ประเภทที่ช่วยยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต (Life Enhancement) 50 ผลงาน
- ประเภทผลงานสำหรับผู้สูงอายุ (Aging Society) 31 ผลงาน
มีการประกาศผลไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ รางวัลผลงานประเภทประหยัดพลังงาน
- กลุ่มนักศึกษา ผลงานชนะเลิศ คือ โครงการออกแบบฉากกั้นบรรเทาความร้อนโดยใช้หลักการทำงานและคุณสมบัติของน้ำ ผลงานของอิทธิยา โกตระกูล
- กลุ่มประชาชน ผลงานชนะเลิศ คือ ระบบกระชังเลี้ยงกุ้งบำบัดน้ำเสีย รักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานร่วมกับพลังงานทดแทน
- กลุ่มผู้ประกอบการ ผลงานชนะเลิศ คือ เครื่องทำน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศ PAC Frenergy ผลงานของแพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย)
รางวัลผลงานประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
- กลุ่มนักศึกษา ผลงานชนะเลิศ คือ Shrimp Shell Lamp ผลงานของชัยวัฒน์ เด่นเสมอวงษ์
- กลุ่มประชาชน ผลงานชนะเลิศ คือ กลับมา ผลงานของวิทยา ชัยมงคล
- กลุ่มบริษัทเอกชน ผลงานชนะเลิศ คือ ซองเก่าไป แฟ้มใหม่มา ผลงานของไทย ที อาร์ เอส (2008)
รางวัลผลงานประเภทที่ช่วยยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต
- กลุ่มนักศึกษา ผลงานชนะเลิศ คือ โดรนดูแลสวนมะพร้าวเพื่อคุณ ผลงานของกฤตธัช สาทรานนท์ วีระชาติ ค้ำคูณ วุฒิภัทร โชคอนันตทรัพย์ ณัฐพงษ์ ฉางแก้ว และชินวัตร ชินนาพันธ์
- กลุ่มประชาชน ผลงานชนะเลิศ คือ เดินเล่น ผลงานของชนัญชิดา ชาญอุไร
- กลุ่มบริษัทเอกชน ผลงานชนะเลิศ คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องครัวจากเปลือกข้าว ผลงานของฮัสค์ กรีน
รางวัลผลงานสำหรับสังคมผู้สูงอายุ
- กลุ่มนักศึกษา ผลงานชนะเลิศ คือ เครื่องช่วยลุกนั่งชักโครกแบบย่นแรงสำหรับผู้สูงอายุ ผลงานของอนุรักษ์ ชุมปลา ทิพย์สุดา เคนสงคราม นลัทพร พลภักดี ผลงานนี้คว้ารางวัล The Best of The Best Young: TGDA2018 ไปอีกด้วย
- กลุ่มเอกชน ผลงานชนะเลิศ คือ เฟรชชี่โซป ชาวเวอร์ ชีท ผลงานของเบร คอสเมติก แลบ
. ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ ผู้อำนวยการสถาบันผลิตผลเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการประกวดในปีนี้ว่า “วัตถุประสงค์หลัก คือการมีส่วนร่วมในการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและร่วมสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารให้มากยิ่งขึ้น และในช่วงปีที่ผ่านมา มุ่งให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมความกินดีอยู่ดี ส่งเสริมการแปรรูปด้านอุตสาหกรรมเกษตร ไม่ใช่อาหาร ตอบโจทย์ความกินดีอยู่ดีของประเทศ แนวคิดของการประกวด TGDA สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 วิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมทกุประการ มุ่งเน้นการทำน้อยได้มาก และสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีความยั่งยืน”
. รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ประธานกรรมการตัดสิน กล่าวว่า ผลงานปีล่าสุดนี้ นำทั้งแนวคิด ไอเดียที่สร้างสรรค์มาผสมผสานกับเทคโนโลยี นวัตกรรม ทำให้ผลงานที่ส่งเข้าประกวดเริ่มจะตอบโจทย์ของการประกวดแล้ว และผู้จัดก็พร้อมส่งเสริมผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ไปสู่ตลาดในวงกว้าง